(4) คำพูดที่ว่า "คนฉลาดต้องรู้จักเลือกนาย" ยังใช้ได้อยู่หรือไม่?
    ผู้สมัครงานจะต้องตัดสินใจทำงาน โดยเลือก จากเงื่อนไขของงาน หรือ เงื่อนไขของนาย (บริษัท)
ชื่อผู้เขียน : ฤติ สุนทรสิงห์
ตำแหน่ง : อาจารย์คณะศิลปศาสตร์

บริษัท : มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

 


เลือกที่บริษัท


ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกงาน เราน่าจะหยุดคิดสักนิดว่า เป้าหมาย หรือสิ่งที่เราตั้งไว้ว่าจะได้จากการทำงานคืออะไร การทำงานในชีวิตจริง คงจะไม่ได้หมายถึงความสุข และความพอใจเท่านั้น เราต้องการทำงานเพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่ดี เห็นความจำเริญก้าวหน้าของชีวิต มีความสุขในครอบครัวและมีอนาคตที่มั่นคง เราจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นด้วย มิใช่คำนึงถึงแต่ความชอบของเรา และปัจจัยที่สำคัญที่สุด ก็น่าจะไม่พ้นบริษัท หรือองค์กร

การที่เราตีความอย่างแคบๆ เพียงว่า การเลือกบริษัท หมายถึง การเลือกที่ชื่อเสียง และความใหญ่โต สวยงามของบริษัทเท่านั้น ก็อาจทำให้เราตัดสินใจเลือกงานจากเนื้องานก็ได้ เพราะคงมีหลายคนที่บอกว่า ฉันไม่สนใจชื่อเสียง และความโอ่อ่าของบริษัท ฉันสนใจเพียงว่าฉันอยากทำงานที่ฉันรัก แต่ในความเป็นจริง เรามองอย่างนั้นไม่ได้ เราต้องมองให้กว้างว่า บริษัท หมายรวมถึงการเลือกเจ้านายที่ดี มุมมองที่กว้างไกลของบริษัท นโยบายการทำงาน ลู่ทางความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของตน และของบริษัท การให้โอกาส รวมไปถึงสภาพแวดล้อม ทัศนคติของเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัท ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการทำงาน ที่จะไม่ได้เป็นตัวกำหนดเพียงความพอใจ หรือไม่พอใจเท่านั้น แต่ยังกำหนดความมั่นคง อนาคต ความก้าวหน้า และอื่นๆ อีกมากได้ด้วย

หลายคนอาจเถียงว่า ฉันทำงานเพื่อหวังความสุขเพียงเท่านั้น ถ้าฉันทำอย่างมีความสุข จริงจัง และทุ่มเทแล้ว ความก้าวหน้าก็จะตามมาเอง สักวันต้องมีคนเห็น แต่เราแน่ใจได้แค่ไหนว่างานที่เราทำอยู่นั้น เรารักมันจริงๆ แล้วงานอื่นที่เราไม่เคยทำ เราจะไม่รักมันมากกว่า ถ้าเรายังไม่รู้ว่า ทั้งหมดในโลกนี้มีงานอะไรให้ทำบ้าง เราก็อย่าเพิ่งตั้งแง่ว่างานที่เราไม่เคยทำ เราจะไม่ชอบ และถึงเราได้ทำงานที่ชอบแล้ว และพอใจกับมัน เราจะยังทนทำมันถึงวันละ 7-8 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นได้หรือไม่ ถ้าเจ้านายของเราก็ไม่ส่งเสริม เพื่อนๆ คอยกลั่นแกล้ง สภาพการทำงานก็ไม่ดี งานที่ทำไม่มีอนาคต บริษัทมีนโยบายไม่เป็นธรรม เงินเดือนไม่พอใช้ สวัสดิการไม่ดี ไม่มีวันหยุด ฯลฯ

หากเห็นนาย ก แต่งตัวดีกว่านาย ข แล้วถามว่าใครมีสุขภาพดีกว่ากัน ก็คงเป็นการตั้งคำถามที่หาคำตอบยากอยู่สักหน่อย เพราะเสื้อผ้า ไม่ได้มามีอิทธิพลใดๆ ต่อสุขภาพเลย แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทที่เราทำงานอยู่นั้น มีอิทธิพลต่อชีวิตการทำงานของเรา และในความเป็นจริง บริษัท เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะสามารถทำให้งานที่เราเคยรัก กลายเป็นงานที่เราขยาดและเบื่อหน่าย

ในขณะเดียวกัน บริษัทก็สามารถทำให้งานที่เราไม่เคยคิดว่าจะทำได้ กลายเป็นงานที่เรารักได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น หากเราบอกว่าเราอยากทำงานการตลาด เพราะเป็นงานที่เราถนัดและสนุกกับมัน เราชอบติดต่อลูกค้า ชอบออกความคิด หาช่องทางการขายสินค้าวิธีใหม่ๆ เราเลยไปสมัครงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง โดยไม่สนใจว่าบริษัทเป็นอย่างไร ขอให้เป็นบริษัทการตลาดก็พอ พอเราเข้าไปทำ เจ้านายก็ไม่ให้ออกไปพบลูกค้า เพราะเกิดเกลียดขี้หน้าและหมั่นไส้ในความเก่ง เวลาออกความคิดอะไร ก็ไม่มีใครฟัง หากเป็นความคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เจ้านายก็เก็บไว้เอาหน้า บอกว่าเป็นความคิดของตนเอง ทำงานแทบตาย เงินเดือนก็ไม่ขึ้น ตำแหน่งก็อย่าหวังเพราะทุกคนต่างก็คอยปัดแข้งปัดขากัน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้แน่นอน ถามว่าเราจะทนทำงานในบริษัทอย่างนี้ได้นานสักเท่าไหร่

ในทางกลับกัน ถ้าเราเข้าไปทำงานในบริษัทที่ดี เจ้านายมีความรู้ความสามารถ ให้โอกาส เพื่อนร่วมงานก็สนับสนุนกันดี ทัศนะของบริษัทกว้างไกล มีโอกาสเติบโตได้มาก แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำงานในตำแหน่งที่เรารักหรือถนัด เราก็ยังสามารถได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ โดยมีคนสอน คนแนะนำและสนับสนุน แถมยังมีโอกาสก้าวหน้า วันหนึ่ง เมื่อเราเห็นว่าเราทำได้ และทำได้อย่างดีเสียด้วย เราอาจจะเกิดความรักงานนั้นขึ้นมาก็ได้ หรือไม่แน่ ถ้าเขาเห็นความสามารถ สักวัน เราอาจจะมีโอกาสมาทำงานที่เรารักก็ได้ เพราะเจ้านายและบริษัทรู้จักให้โอกาสคน

ดังนั้น คนที่คิดว่าจะเลือกทำงานตามที่ใจตนเองปรารถนาอย่างเดียว โดยไม่สนใจความเป็นมาเป็นไปของบริษัท คงจะต้องลองพิจารณาและคิดใหม่อีกสักที เพราะบริษัทเป็นปัจจัยที่ส่งอิทธิพลกับงานที่เราทำได้อย่างมาก ทั้งในด้านดี และไม่ดี บริษัทมิได้เป็นเพียงสิ่งที่กำหนดความสุขหรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่บริษัทยังสามารถทำนายอนาคตเราได้อีกด้วย