5. เมื่อเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยต่อสู้กับลิโป้แบบสามคนรุมหนึ่ง ทำไมยังถือว่าพวกที่รุมคือวีรบุรุษ การรุมถือว่าไม่ยุติธรรมมิใช่หรือ คำถามเช่นนี้ อาจอยู่ในใจของใครบางคน สามก๊ก@work จึงถือโอกาสตั้งประเด็นนี้เพื่อให้เข้าใจในมุมมองของนักบริหารมากขึ้น


 
ถ้าว่ากันตามกติกา การแข่งขันหรือการประลอง เราต้องการความยุติธรรม การใช้วิธี 3 รุมหนึ่งจะเป็นวิธีของพวกหมาหมู่ เป็นวิธีการที่เอาเปรียบกัน รังแกกัน สังคมไม่ควรยกย่อง คนที่มีศักดิ์ศรีเขาไม่ทำกัน การอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีย่อมมีเกียรติกว่า ยกตัวอย่างการเรียกร้องให้สังคมตัดสินในความไม่ยุติธรรมนี้ ได้แก่ ป้ายโฆษณาหาเสียงของคุณสมัครที่ว่า "สมัครถูกรุม" ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ในปี 2000 ย่อมแสดงให้เห็นว่าคุณสมัครต้องการความเห็นใจจากประชาชนกรุงเทพฯว่าตนเองถูกรุม ถูกรังแกจากผู้สมัครรายอื่น ๆ ซึ่งตนคิดว่าไม่ยุติธรรม จึงฟ้องประชาชน

อย่างไรก็ตาม สามก๊ก@work อยากชี้ให้เห็นว่า

1. การรบของเตียวหุย กวนอู เล่าปี่ ไม่ใช่การแข่งขัน ไม่ใช่การประลองเพื่อให้รู้ว่าใครเก่งกว่า แต่เป็นการต่อสู้กันเพื่อชัยชนะที่จะเป็นการเรียกขวัญกำลังใจให้ฝ่ายตน และเป็นการข่มขวัญให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้มีกำลังใจสู้ และถ้าผลการต่อสู้ชนะหรือถึงขั้นฆ่าคู่ต่อสู้ที่เป็นแม่ทัพได้ก็จะมีโอกาสได้ชัยอีกฝ่ายหนึ่งโดยเสีย กำลังพลน้อย เพราะอีกฝ่ายจะไม่มีกระจิตกระใจสู้ อาจถึงขั้นยอมแพ้ง่าย ๆ เสียด้วย เพราะฉะนั้นการรบหรือการประลองนี้ไม่มีการมอบถ้วยรางวัล เป้าหมายอยู่ที่ชัยชนะในสงคราม พอพูดถึงประเด็นในการสงครามคำว่ายุติธรรมหรือไม่จึงไม่ใช่คำถามที่จะมาถามในสถานการณ์เช่นนี้

2. ถ้าจะพูดในประเด็นยุติธรรมของการแข่งขันใคร ๆ ก็รู้ว่าลิโป้เก่งอยู่แล้ว เหมือนกับบอลที่เป็นต่ออาจต้องเป็นคู่ที่มีการแต้มต่อกันที่ 1: 3 จึงจะยุติธรรม

สามก๊ก@work จึงอยากจะสรุปว่าผู้ชนะในสนามรบก็คือวีระบุรุษ และอยากนำท่านกลับไปในมุมมองของนักบริหารว่า นักบริหารมืออาชีพมักคำนึงถึงเป้าหมายและส่วนรวมเป็นหลัก บ่อยครั้งที่มีการทำทีดูเหมือนว่าผิดกติกาแต่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริหารอาจต้องกล้าตัดสินใจทำ

ส่วนในกรณีของ เตียวหุย กวนอู เล่าปี่ เขามีเหตุผลอีกข้อที่ต้องรุมก็คือความเอื้ออาทรต่อพี่น้อง แม้ไม่ได้เกิดวันเดียวกันแต่ก็ขอตายวันเดียวกัน นั่นคือคำสาบานในสวนท้อ ความรักของทั้งสามแม้เป็นในรูปของพี่น้องร่วมสาบานแต่เบื้องฐานก็อยู่ที่ใจ อยู่ที่ความรู้สึกห่วงใย ไม่ใช่อยู่ที่เหตุผล ถ้ากวนอูและเล่าปี่คิดว่า หนึ่งต่อหนึ่งจึงยุติธรรม เตียวหุยก็คงพลาดพลั้งลิโป้จนถึงแก่ชีวิตแล้วในตอนนั้น ระหว่างพี่น้องแล้ว กวนอู เล่าปี่ มองเห็นได้ว่าไม่มีกติกามีแต่การช่วยเหลือ น้ำใจเอื้ออาทรแบบตะวันออก( เอเชีย ) จึงมักเป็นสิ่งที่โหยหา และนับวันจะหาได้ยากยิ่งจากชาวตะวันตก( อเมริกา ) และ สามก๊ก@work จึงอยากจะจบตอนนี้ด้วยคำพูดที่ว่า พี่น้องอย่าใช้เหตุผลคุยกัน ใช้ความรักความเอื้ออาทร คุยกัน



Copyright 2000 - Vichien Shnatepaporn, All Rights Reserved.
No part of this article may be reproduced, stored in a retrieval system, or transmitted in any form, or by any means,
electronic, mechanical, photocopying, recording, or otherwise, without permission.
งาน หางาน สมัครงาน ใช้ jobtopgun.com