1. ความหวังดีใช่ว่าจะมีผลลัพธ์ดีเสมอไป

จากการที่ครอบครัวของโจโฉต้องตายหมดสิ้นสาเหตุหนึ่งก็เนื่องมาจาก ความหวังดีของโจโฉที่ริเริ่มเรื่องการย้ายครอบครัวตนเอง และก็มาจากความหวังดีของเจ้าเมืองชื่อโตเกี๋ยมที่ต้องการเอาใจโจโฉโดยส่งลูกน้องไปคุ้มกันครอบครัวโจโฉ และด้วยการมีลูกน้องที่เป็นพิษอย่างเตียวกี้ที่มีสันดานเดิมเป็นโจรโพกผ้าเหลือง ก็ทำให้ความหวังดีทั้งหลาย ต้องลงท้ายเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะนอกจากชีวิตของคนในครอบครัวโจโฉที่ต้องตายหมดสิ้น ประชาชนชีจิ๋วที่โจโฉยกทัพไปแก้แค้นก็ตายอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย สามก๊ก@work จึงเชื่อว่าเราน่าจะมาวิเคราะห์เรื่องความหวังดีในการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ว่าแท้จริงควรมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความหวังดีอย่างไร



1. ความหวังดีที่มีต่อผู้อื่น เพียงพอให้ผู้หวังดีมีสิทธิที่จะแทรกแซงผู้อื่นได้หรือไม่ ?
มีผู้สัมมนาคนหนึ่งเล่าว่า มีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง และด้วยความหวังดี ที่อยากให้เพื่อนได้แต่งงานกับผู้ชายที่ดีก็เลยไปยุแม่ของเพื่อนให้บังคับเพื่อนตัวเองให้แต่งงานกับผู้ชายที่ดีคนนั้น ลงท้ายเพื่อนกับแม่เพื่อนก็ต้องทะเลาะไม่พูดกันหลายวัน นี่ย่อมเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า คนหลายคนมักจะอ้างความหวังดีหรือถือเอาความหวังดีโดยไม่คิดว่าผู้รับความหวังดีนั้นต้องการหรือเปล่า ยอมรับความหวังดีนั้นหรือไม่

สามก๊ก@work เชื่อว่าเราอยู่ในยุคที่มีสิทธิมนุษย์ ถ้าเราต่างฝ่ายต่างเคารพในสิทธิของผู้อื่น
โลก/สังคมก็จะมีความสงบสุข ไม่วุ่นวายยุ่งกันให้พัลวันจนเกิดความยุ่งเหยิงกันไปนาน


2. แน่ใจหรือไม่ว่าความหวังดีของเราจะลงท้ายด้วยดีจริง ?
บ่อยครั้งคนเรามักจะถือเอาความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้งว่าความที่หวังดีกับบุคคลอื่นก็เพียงพอที่
จะไม่ต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น

สามก๊ก@work เชื่อว่าเพียงเรามีจิตสำนึกในการที่ต้องรับผิดชอบกับพฤติกรรมที่เราเรียกว่าหวังดีนั้น ก็ทำให้รู้จักไตร่ตรองถึงผลลัพธ์ อย่างน้อยก็ทำให้คุณภาพของการแนะนำหรือพฤติกรรมที่หวังดีนั้นดีขึ้น ตัวอย่าง เช่น ถ้าโตเกี๋ยมไม่ใช่สักแต่หวังดีแต่รู้จักคิดถึงการรับผิดชอบอย่างจริงจังไม่ใช่แค่ทำเพื่อประจบโจโฉ เรื่องก็คงจะไม่ลงเอยอย่างนี้ หรือถ้าไม่แน่ใจว่า ทำแล้วจะดี ก็อย่าหาเรื่องใส่ตัวดีกว่า ถ้าเรามีจิตสำนึกที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและการตัดสินใจของเรา เราก็เข้าใจได้เองว่าสิ่งไหนอยู่ที่ขอบข่ายที่เราสามารถรับผิดชอบได้และสิ่งไหนที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายที่เราจะรับผิดชอบ สามก๊ก@work อยากจะยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวมาก เช่น การหวังดีรับโทรศัพท์ให้เพื่อนร่วมงานถ้าไม่แน่ใจว่าจะรับเรื่องให้เพื่อนได้ ก็ต้องบอกผู้ที่โทรมาให้ชัดเจนว่า ไม่สามารถรับเรื่องให้ได้ การรับสายแทนเพื่อน แท้จริงแล้วก็คือการรับเอาภาระการเป็นตัวกลางของการสื่อสารมาอยู่ที่เราถ้ารับสายก็ต้องรับผิดชอบให้ดี มิใช่คิดว่าแค่หวังดีรับสายให้ก็ถือว่าช่วย ถือว่าเป็นบุญคุณ เพราะท้ายที่สุดของเรื่องก็อาจจะเลวร้ายทำงานผิดพลาด หรือเข้าใจไม่ตรงกันอย่างโจโฉและโตเกี๋ยมก็ได้


3. ความหวังดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูว่าผู้รับความหวังดีจะยินยอมพร้อมใจหรือไม่ และถ้าเรายังต้องรับผิดชอบกับผลของความหวังดีของเรา คำถามคือแล้วเราควรจะมีความหวังดีให้คนอื่นไปทำไม ?

สามก๊ก@work เชื่อว่าคำตอบของเรื่องนี้คือเรายังคงต้องหวังดีกับผู้อื่นอยู่ดี เพราะการหวังดีของเราก็จะได้รับความหวังดีตอบ และถ้าต่างฝ่ายต่างรู้จักคำว่าหวังดีอย่างแท้จริง เราก็จะรู้จักเลือกเรื่องของผู้อื่น ทำให้ชีวิตเราและผู้อื่นยุ่งเหยิงน้อยลง เรารับผิดชอบและไตร่ตรองวิธีการมากขึ้น ทำให้ความหวังดีของเรามีความเสี่ยงต่อการล้มเหลวน้อยลง ทุกอย่างก็จะสำเร็จและลงเอยด้วยดีมากขึ้น คนเราอยู่เองคนเดียวไม่ได้ในโลกใบนี้ ความหวังดีต่อผู้อื่นจะทำให้เราอยู่กันได้อย่างมีความสุข แต่เราก็ต้องรู้ว่าเราจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร


 
Copyright 2000 - Vichien Shnatepaporn, All Rights Reserved.
No part of this article may be reproduced, stored in a retrieval system, or transmitted in any form, or by any means,
electronic, mechanical, photocopying, recording, or otherwise, without permission.
งาน หางาน สมัครงาน ใช้ jobtopgun.com