1. ความกตัญญูรู้ตอบแทนบุญคุณ

ในตอนอุบายนางงามนี้แสดงความแตกต่างของความกตัญญูและอกตัญญูออกมาชัดเจนมาก เรื่องราวของเตียวเสี้ยนและลิโป้ เป็นเรื่องราวที่แตกต่างราวฟ้ากับดิน ทั้งนี้เตียวเสี้ยนนั้นถูกชุบเลี้ยงให้เป็นนางรำโดยที่อองอุนให้ความรักเฉกเช่นลูก ได้แสดงความกตัญญูตอบแทนอองอุนด้วยการสละซึ่งศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิง ยอมถูกคนประณาม ยอมใช้มารยาหญิง,ใช้ความรักความใคร่เป็นเงื่อนไขในอุบายซึ่งสังคมทั่วไปถือว่าเป็นวิธีการที่ต่ำ เพราะขัดกับคุณค่าของความรักที่สังคมยึดถือในเรื่องความจริงใจ เตียวเสี้ยนต้องนำความรักมาใช้อย่างไร้คุณค่าในแง่จิตใจของมนุษย์

ส่วนลิโป้ผู้ซึ่งถูกชุบเลี้ยงเหมือนลูกของตั๋งโต๊ะ ตั๋งโต๊ะให้เกียรติและเอาใจทุกอย่าง จากทหารเอกของ เต็งหงวนเจ้าเมืองเล็ก ๆ กลายเป็นผู้มีอำนาจวาสนา แต่ลิโป้กลับตอบแทนด้วยการสังหารผลาญชีวิตซึ่งสังคมถือว่าการปิตุฆาตนั้น(ถือว่าเป็นความเลวแบบสุด ๆ) แม้เต็งหงวนจะเป็นพ่อเลี้ยงก็ตามและก็ยังมีตั๋งโต๊ะซึ่งลิโป้เองยกให้เป็นพ่อบุญธรรมอีกคน ก็ถูกลิโป้ฆ่าทิ้ง ดังนั้นในบทนี้เราจึงเห็นการแสดงความกตัญญูและความอกตัญญูที่เป็นสุดกู่ระหว่างเตียวเสี้ยนและลิโป้

สามก๊ก@work เชื่อว่า บุญคุณต้องตอบแทน ความแค้นต้องชำระ ดูเหมือนเป็น concept ที่อยู่ในสายเลือดของวัฒนธรรมจีนและถูกตอกย้ำตั้งแต่เด็กโดยหนังกำลังภายใน และหนังเจ้าพ่อฮ่องกงอยู่เสมอ แค้นต้องชำระนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างขัดกับวัฒนธรรมของไทย ว่าด้วยเรื่องเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร การสอนของศาสนาพุทธที่ว่าด้วยการรู้จักให้อภัยกันหรือการรู้จักปล่อยวาง บุญคุณต้องตอบแทนกลับเป็นสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากสังคม แม้ชาวตะวันตก เช่นพวกยุโรป หรือพวกอเมริกาจะไม่รุนแรงเท่าคนตะวันออกอย่างเอเชีย แต่ concept อันนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ควรดำรงไว้ในสังคม

สามก๊ก@work เลือกที่จะเขียนเกี่ยวกับความกตัญญูใน 3 แง่มุม
1. ทำไมควรกตัญญูรู้คุณ
2. ควรตอบแทนบุญคุณแค่ไหน
3. เมื่อบุญคุณต้องตอบแทน
    - เราจะกล้ารับบุญคุณคนอื่นแค่ไหน ?
    - เราจะสร้างบุญคุณโดยหวังการตอบแทนจริงหรือ ?






1.1 ทำไมถึงควรกตัญญูรู้คุณ ?
ถ้าความกตัญญูหมายถึงการขายทิ้งความเป็นตัวของตัวเอง การขายทิ้งศักดิ์ศรีความเป็นหญิง และอยู่ อย่างไม่มีเกียรติในสังคมในแบบที่เตียวเสี้ยนต้องทดแทนบุญคุณของอองอุน หรือความกตัญญูต้องหมายถึงการขายตัวของหญิงบริการเพื่อเอาเงินมาจุนเจือพ่อแม่และครอบครัว คำถามคือ เราควรส่งเสริมความกตัญญูรู้คุณ หรือไม่ ?

ถ้าความอกตัญญูหมายถึงลาภยศบรรดาศักดิ์ที่ลิโป้ได้จากการฆ่าเต็งหงวนพ่อเลี้ยงของตนเอง เพื่อแปรพักตร์ไปอยู่กับฝ่ายตั๋งโต๊ะ หรือถ้าความอกตัญญูหมายถึงการที่ได้นางเตียวเสี้ยนที่เป็นหญิงเปี่ยมเสน่ห์แห่งยุคมาครอง โดยที่ลิโป้ต้องกำจัดตั๋งโต๊ะพ่อเลี้ยงของตนอีกคน คำถามคือ เราควรสนับสนุนความอกตัญญูเพราะทำให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการโดยไม่มีข้อจำกัดหรือไม่ ?

สามก๊ก@work เชื่อว่า ความกตัญญูรู้คุณคนของเตียวเสี้ยน หรือความกตัญญูรู้คุณคนของหญิงที่ต้องขายบริการเพื่อพ่อแม่ครอบครัว ความกตัญญูรู้คุณคน ยังเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริม แต่วิธีการตอบแทนต่างหากที่ สามก๊ก@work ไม่เห็นด้วยเพราะการทำผิดเพื่อสิ่งที่ถูก หรือการขายตัวเพื่อกตัญญูรู้คุณ ความจริงในส่วนที่ผิดก็ยังผิด ส่วนที่ถูกก็ยังคงถูก ผิดคือการขายตัวทำให้ไม่มีศักดิ์ศรี ถึงแม้ทำไปเพื่อกตัญญูก็ไม่ได้ทำให้การขายตัวเปลี่ยนเป็นมีศักดิ์ศรีไปได้ ถ้าเรารู้จักแยกแยะก็จะทำให้เราเจริญและไม่เสื่อม ส่วนการได้มาซึ่งลาภยศสรรเสริญของลิโป้ เกิดจากการอกตัญญูไม่รู้คุณคน ถึงแม้จะได้ในสิ่งที่ลิโป้ต้องการ แต่เป็นการได้มาแบบผิดวิธี

สามก๊ก@work เชื่อว่าการได้มาแบบผิดวิธีนั้นไม่ถูกต้อง สิ่งที่ได้มาย่อมไม่เที่ยงแท้และต้องได้รับความเสื่อมในเวลาต่อมา สามก๊ก@work มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าคนเราควรกตัญญูรู้คุณคน กตัญญูนั้นคือจริยธรรมกฎเกณฑ์ทางสังคมเพื่อสร้างสังคมทั้งหมดให้มีความเจริญอย่างมีระเบียบ


ถ้าเราเป็นคนกตัญญูรู้คุณคน เราก็จะได้รับการ support จากคนรอบข้างและสังคม ถ้าเรารู้จักบุญคุณคนอื่น และรู้จักตอบแทน ก็จะทำให้เราเป็นคนที่น่าถูกช่วยเหลือเมื่อเดือดร้อน การตอบแทนบุญคุณเพียงหนึ่งคน อาจทำให้มีผู้อยากช่วยเราเพิ่มอีกเป็นสิบเป็นร้อยเป็นพันหรือเป็นหมื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของข้อมูลข่าวสาร ใครทำดีก็มีโอกาสได้รับการเปิดเผยได้รับรู้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ถ้าผู้อื่นรู้ว่าเราเป็นคนรู้คุณคน ใคร ๆ ก็อยากช่วยถึงแม้ว่าผู้ช่วยจะได้รับการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม เพราะผู้ช่วยมีกำลังใจที่จะช่วยคนกตัญญูรู้คุณคนเนื่องจากผู้ถูกช่วยอย่างน้อยก็จะ appreciate ในความช่วยเหลือนั้น

อย่างไรก็ตามความกตัญญูรู้คุณคนเป็นคุณค่าหนึ่งของสังคมที่จรรโลงไว้ซึ่งความเจริญของทุกฝ่าย และบางทีเราก็อาจไม่จำเป็นต้องตอบว่าทำไม ข้อสำคัญคือต้องมีความเชื่อว่า ควรกตัญญูรู้คุณคน และตอบแทนผู้ที่ทำดีกับเรา เราก็จะสร้างเงื่อนไขของชีวิต เป็นชีวิตที่มีแต่คนอยาก support





1.2 ควรตอบแทนบุญคุณแค่ไหน?
บุญคุณต้องตอบแทน ผู้ที่อยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมตะวันออกมักจะโยงใยสลับซับซ้อนในเรื่องของบุญคุณ จนในที่สุดไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง และชีวิตลงท้ายด้วยการชดใช้หนี้บุญคุณที่โยงใยกันมาอย่างไม่รู้จบสิ้น และต้องมีคำถามว่าแท้จริงแล้วต้องตอบแทนบุญคุณกันถึงแค่ไหน ?

1.2.1 สามก๊ก@work เชื่อว่าถ้าเป็นบุญคุณของพ่อแม่การตอบแทนก็คงไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งนี้ผู้ที่มีลูกแล้วจะเข้าใจดีกว่า เพราะเป็นบุญคุณตั้งแต่เกิด ตั้งแต่การดูแลสารพัดจากที่ทำอะไรเองไม่ได้ซักอย่าง พ่อแม่ต้องเป็นห่วงเป็นใย ฟูมฟักเลี้ยงดูจนปีกกล้าขาแข็ง ดูแลตนเองได้ เรื่องของพ่อแม่กับลูกเป็นเรื่อง basic ของมนุษย์ที่มีความรักใคร่ผูกพันกัน แต่วัฒนธรรมของฝรั่ง (ตะวันตก) กับของเรา (ตะวันออก) ต่างกัน ของเราเราจะถือหลักว่าพ่อแม่เลี้ยงเราโต เราเลี้ยงพ่อแม่ถึงแก่เฒ่า เป็นวัฒนธรรมที่ถือปฏิบัติกันมาในแต่ละรุ่น ถือเป็นแบบอย่าง ให้ลูกหลานปฏิบัติตาม ถ้าเราอยากให้ลูกกตัญญูกับเรา เราก็ต้องกตัญญูต่อพ่อแม่เรา เพื่อปลูกฝังคุณค่าที่ดีเป็นแบบอย่างให้กับลูก อย่างไรก็ตามการทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ก็ยังน่าจะอยู่บนพื้นฐานและขอบเขตที่มนุษย์ควรทำ สามก๊ก@work เชื่อว่า การกตัญญูรู้คุณคนเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมสนับสนุน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้ของศีลธรรมที่ดีงาม ต้องถูกกฎหมาย ต้องอยู่บนสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะสามารถกำหนดรูปแบบอันเป็นสากลได้มากกว่า ถึงแม้ว่าเราจะตอบแทนคุณของพ่อแม่ไม่รู้จักหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการตอบแทนคือ การที่ต้องทำตามความต้องการของพ่อแม่ทุกอย่าง เช่น ไม่ได้หมายความว่าต้องเรียนในสาขาที่พ่อแม่ต้องการคือกตัญญู ไม่ได้หมายความว่าต้องไปขโมยเงินมาให้พ่อแม่ใช้ถือเป็นการกตัญญู เราต้องทำสิ่งที่ถูกเพื่อสิ่งที่ถูก เช่น พ่อแม่ไม่ควรจะกำหนดว่าจะให้เราเรียนอะไร เราสามารถเลือกของเราได้ แต่เราเองก็ต้องรักดี การรักดี ตั้งใจเรียนก็ถือว่ากตัญญูแล้ว เพราะไม่ต้องให้พ่อแม่เป็นห่วงเกินเหตุ การให้เงินพ่อแม่ใช้ถึงแม้อาจจะน้อยนิด แต่ถ้ามาจากความสุจริตก็ยิ่งน่าสรรเสริญกว่ามาแบบผิดกฎหมาย ส่วนการขายตัวเป็นการผิดจริยธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรเลือกที่จะอยู่อย่างมีเกียรติได้ การยอมทำงานหนักอยู่อย่างมีเกียรติ ถึงแม้อาจจะไม่ได้สุขสบายทางวัตถุมากก็ยังได้มาอย่างสง่างาม ย่อมเป็นความกตัญญูที่ดีกว่า

สามก๊ก@work อยากจะเล่าเรื่องของเพื่อนผู้หนึ่งซึ่งเคยทะเลาะกับพ่อ พ่อตั้งเงื่อนไขตัดลูกตัดพ่อ ถ้าหากเพื่อนผู้นั้นตัดสินใจไปเรียนที่อเมริกา เพียงเพราะฝ่ายพ่อห่วงว่าถ้าลูกไปเรียนที่อเมริกาแล้วจะเสียคน แต่เพื่อนผู้นั้นเชื่อมั่นว่าการที่ไปเรียนต่อที่อเมริกาไม่ใช่เป็นสิ่งเลว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไปเกเรหรือไม่รักดี เพื่อนผู้นั้นก็ดิ้นรน จนในที่สุดได้ไปเรียนจนประสบความสำเร็จกลับมา เป็นชื่อเสียงของตระกูลและก็ตอบแทนคุณของพ่อแม่ในสิ่งที่ลูกพึงมี จะเห็นได้ว่าการไม่ตามใจพ่อแม่ไม่ได้หมายความว่าอกตัญญู แต่รู้จักแยกแยะต่างหากที่จะทำให้ไม่สับสน มีวิธีการดีเพื่อสิ่งที่ดี

1.2.2 สำหรับบุญคุณของผู้อื่นนั้นก็คงต้องแล้วแต่เรื่อง แล้วแต่กรณี แต่เราก็คงจะไม่คิดในเชิงที่ว่าถ้าเขาให้เรา10 เราต้องชดใช้ไม่เกิน10 เรื่องนี้มันเป็น concept ของต่างคนต่างสร้างบุญคุณให้แก่กันโดยถือหลักว่าสร้างฐานให้มีคนสนับสนุนดีกว่าสร้างศัตรู

สามก๊ก@work เชื่อว่าคนที่สับสนในเรื่องการตอบ แทนบุญคุณมักจะสับสนและดูไม่ทะลุกับเรื่องวิธีการมากกว่า จึงรู้สึกกดดันหรือรู้สึกเป็นภาระ ถ้าการ ตอบแทนด้วยการให้ประโยชน์ก็ต้องรู้ว่าเรามีให้แค่ไหน การตอบแทนด้วยการเสียประโยชน์เราก็ต้องรู้ว่าเราเสียได้แค่ไหน ต้องรู้จักประเมินตน และรู้จักดีชั่ว รู้จักสมควรและไม่สมควร แต่ทั้งหมดก็ควรจะวัดด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ซึ่งเป็นตัวกำหนดรูปแบบของการตอบแทนบุญคุณ

ความจริงแล้ว สามก๊ก@work เชื่อว่าต้องตอบแทนแค่ไหน ไม่ได้เป็นคำถามหลักแต่ต้องตอบแทนวิธีไหนจึงน่าเป็นคำถามหลักมากกว่า เพราะปกติผู้ที่มีบุญคุณกับเรา เรามักจะต้องชดใช้ตลอดไป ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องเดือดร้อน เพราะการยิ่งตอบแทนคุณคนก็ยิ่งจะมีคน support

สามก๊ก@work อยากจะยกตัวอย่างเพื่อนผู้นั้นอีกทีว่า กว่าเขาจะได้ไปเรียนต่อ พ่อของเพื่อนจะต้องเป็นผู้ค้ำประกันในฐานะผู้ปกครอง ซึ่งเพื่อนผู้นั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากพ่อของเพื่อนซึ่งไม่ใช่พ่อของตัว ทำให้เพื่อนและพ่อของเพื่อนมีบุญคุณที่ชดใช้กันไม่หมด เพราะสิ่งที่เพื่อนผู้นั้นได้รับคือพื้นฐานที่ทำให้เขาผู้นั้นเจริญ เพราะได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตมากมาย มากมายกว่าที่ไม่ได้ไปเรียนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แต่การชดใช้ไม่หมดก็ไม่ได้ทำให้อึดอัด เพราะรูปแบบวิธีการตอบแทนก็คือ การให้ความช่วยเหลือในขีดความสามารถและในขอบเขตที่พึงมี





1.3 เมื่อบุญคุณต้องตอบแทน
- เราจะกล้ารับคุณคนอื่นแค่ไหน ?
- เราจะสร้างบุญคุณโดยหวังการตอบแทนจริงหรือ ?

สามก๊ก@work เชื่อว่า สมัยนี้เราจะพบคนไม่กล้ารับบุญคุณของผู้อื่นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ซึ่งอาจเป็นเพราะ
1.3.1 คนรุ่นใหม่ อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใครเหมือนคนรุ่นก่อน เช่น ต้องพึ่งพากันในการลงแรง ลงแขกเกี่ยวข้าว หรือสมัยนี้เราไม่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ให้ฝากงานเหมือนเมื่อก่อน เพราะเราสมัครเองได้
1.3.2 อาจเป็นเพราะต่างคนต่างเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองมากขึ้น และเอาตัวรอดโดยไม่สนใจที่จะสร้างบุญคุณให้คนอื่น
1.3.3 พวกที่สร้างบุญคุณก็สร้างแบบหวังผลตอบแทน คนรับบุญคุณก็เลยกลัวต้องตอบแทน

สามก๊ก@work เชื่อว่าเราควรจะกล้าที่จะรับบุญคุณผู้อื่นเพราะคนเราจะเจริญเป็นใหญ่ได้ต้องอาศัยผู้อื่นช่วยเหลือ ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนผู้ที่ยอมรับบุญคุณของเพื่อนและพ่อเพื่อน เพื่อไปเรียนต่ออเมริกา ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จอย่างไม่รู้จบ ถ้ามัวแต่กลัวว่าต้องชดใช้ จะเจริญได้ซักแค่ไหน สามก๊ก@work เห็นว่าหัวหน้ากับลูกน้องก็เช่นกัน หัวหน้าเป็นหนี้บุญคุณของลูกน้อง และลูกน้องเป็นหนี้บุญคุณของหัวหน้า ต่างฝ่ายต่างเป็นเสาหลักซึ่งกันและกันก็จะเกิดความเจริญด้วยกันทั้งสองฝ่าย อย่างน้อยก็ดีกว่าต่างฝ่ายต่างอยู่ จะเป็น team งานที่กลมเกลียวได้อย่างไร

คนเป็นใหญ่ต้องไม่กลัวที่จะเป็นหนี้บุญคุณใคร เพราะตัวเองจะเก่งอย่างไรก็ทำเองคนเดียวไม่ได้ ผู้ที่ใหญ่จริง คือพวกที่รู้จักให้และรู้จักรับ และประสานประโยชน์ได้ลงตัวในทุกฝ่ายการตอบแทนบุญคุณ ถือว่าเป็นเกียรติและเป็นศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่ ถ้ามองว่าเป็นภาระก็จะเป็นการมองที่แคบไปหน่อย การตอบแทนบุญคุณก็ใช่ว่าต้องตอบแทนแบบไม่ลืมหูลืมตา หรือการสร้างบุญคุณให้ใครก็ไม่ต้องหวังผลตอบแทน แต่ให้รู้ว่าเป็นการสร้างฐานที่ดีให้กับตนเอง อาจมีคนที่ตอบแทนบ้างไม่ตอบแทนบ้าง แต่ลงท้ายแล้วย่อมดีกว่าไม่มีใคร support เราเลย และการตอบแทนก็ไม่ได้ทำให้เราแย่ลงถ้าเรารู้จักตอบแทนด้วยวิธีการที่ถูก แยกแยะได้ ชีวิตก็ย่อมมีแต่ความเจริญ

Copyright 2000 - Vichien Shnatepaporn, All Rights Reserved.
No part of this article may be reproduced, stored in a retrieval system, or transmitted in any form, or by any means,
electronic, mechanical, photocopying, recording, or otherwise, without permission.
งาน หางาน สมัครงาน ใช้ jobtopgun.com